ประวัติความเป็นมา
ประวัติกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
จากอดีตถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของงานด้านแรงงานเสมอมา เริ่มตั้งแต่การมี พระราชบัญญัติ ที่เกี่ยวกับด้านแรงงานว่าด้วยเรื่องการบริการจัดหางานของรัฐและ เอกชนในปี พ.ศ. 2475 ในสมัยที่ยังเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลสมัย ต่อๆ มาได้พยายามปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ด้านแรงงาน ให้ทันยุคทันเหตุการณ์ อยู่เสมอมา กล่าวคือ มีการโอนแผนกจัดหางาน ไปสังกัด กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ ด้วยเหตุผลว่า เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้าน เศรษฐกิจ
ในปี พ.ศ. 2484 เป็นยุคที่รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการสงเคราะห์ ประชาชนให้มี อาชีพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี จึงโอนงานมาสังกัดกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ปีพ. ศ. 2496 -2505 มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหน่วยงานเพื่อดำเนินการด้านแรงงานเรื่อยมา และเริ่มให้ความสำคัญด้านการฝึกอาชีพ โดยระยะแรกเป็นแผนกอาชีวศึกษา จนกระทั่งเป็น ศูนย์ฝึกอาชีพ สังกัดกองแรงงาน และสังกัดส่วนแรงงานในที่สุด แต่ยังคงอยู่กับกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย และในปีพ.ศ. 2508 มีการยกฐานะส่วนแรงงานขึ้นเป็นกรมแรงงาน สังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย ภารกิจหลักทางด้านการจัดหางาน การคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งการฝึกอาชีพ ในช่วง พ.ศ. 2511 มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติขึ้นโดยให้ปฏิบัติควบคู่ไปกับ กองพัฒนาอาชีพ จนกระทั่ง พ.ศ. 2516 ได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ เปลี่ยนกองพัฒนาอาชีพเป็นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (ตัดคำว่า"แห่งชาติ" ออก) ระหว่าง พ.ศ. 2517-2534 ได้มีการขยายการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นในภูมิภาคอีก 8 แห่งคือ ที่จังหวัดราชบุรี ชลบุรี ลำปาง ขอนแก่น สงขลา นครสวรรค์ อุบลราชธานี และสุราษฎร์ธานี และยังได้มี การจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดขึ้นด้วยอีก 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดปัตตานี และชัยภูมิ เพื่อขยายบริการการฝึกอาชีพให้เข้าถึงประชาชนในระดับพื้นที่มากขึ้น
ในปีพ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีมีมติยุบส่วนราชการ กรมแรงงาน พร้อมกับมีการจัดตั้งกรมพัฒนาฝีมือ แรงงาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานขึ้น สังกัดกระทรวงมหาดไทย ปีพ. ศ. 2536 รัฐบาลได้จัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้น โดยโอนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงมหาดไทยไปสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และในเวลาเดียวกันได้มีการจัดตั้งกรม การจัดหางานขึ้น จึงได้โอนงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่เกี่ยวกับการจัดหางานทั้งในและ ต่างประเทศ งานควบคุมคนงานที่เป็นต่างด้าวไปสังกัดกรมการจัดหางาน
พ. ศ. 2545 รัฐบาลได้มีการปฏิรูประบบบริหารราชการใหม่ โดยปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมดตามบทบาท ภารกิจ ซึ่งทำให้มีกระทรวงเพิ่มขึ้น กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมถูกแยกออกเป็น 2 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสังกัดกระทรวงแรงงาน และรับผิดชอบภารกิจเฉพาะด้านพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศ เช่นเดิม
สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก
จากการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 ต่อมาปี พ.ศ. 2546 ได้มีการปฏิรูประบบราชการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และมีการตั้ง "สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก" ซึ่งเริ่มต้นจาก 3 กลุ่มงาน คือ
-
กลุ่มงานพัฒนาระบบและรูปแบบการฝึก
-
กลุ่มงานพัฒนาผู้ฝึก
-
กลุ่มงานอุตสาหกรรมบริการ
ต่อมา สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก มีการปฏิรูประบบราชการเป็นการภายในอีกครั้ง ปรับโครงสร้างหน่วยงานแบ่งเป็น 5 กลุ่มงาน กับอีก 1 ฝ่ายดังนี้
-
กลุ่มงานพัฒนาระบบการฝึก
-
กลุ่มงานพัฒนาผู้ฝึก
-
กลุ่มงานพัฒนาหลักสูตรและเทคโนโลยีการฝึก
-
กลุ่มงานอุตสาหกรรมบริการ
-
กลุ่มงานสถานฝึกและครุภัณฑ์การฝึก
ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มงาน ดังนี้
-
กลุ่มงานพัฒนาระบบการฝึก
-
กลุ่มงานพัฒนาผู้ฝึกและผู้ประเิมน
-
กลุ่มงานพัฒนาหลักสูตรและเทคโนโลยีการฝึก
-
กลุ่มงาน กลุ่มงานพัฒนาวิทยากรต้นแบบ
-
ศูนย์บริภัณฑ์เทคโนโลยีการพัฒนาฝีมือแรงงาน
-
ฝ่ายบริหารทั่วไป