การแสดงผล

+
-

ประวัติและที่ตั้งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานยโสธร

ประวัติสนพ ยโสธร

สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานยโสธร ตั้งอยู่เลขที่ 234 หมู่ที่ 1 ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร บนที่ดินสวนเกษตร ของโรงเรียนบ้านกว้างท่าเยี่ยม เดิมมีชื่อหน่วยงานว่าศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดยโสธร

          การก่อสร้าง ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดยโสธร เกิดจากความร่วมมือระหว่าง นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร กับ นางอัมพร จุณนานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สมัยนั้น ตลอดจน อาจารย์เกรียงศักดิ์ บุญทวี อาจารย์ใหญ่บ้านกว้างท่าเยี่ยม เกี่ยวกับการฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพของประชาชน ในพื้นที่ จังหวัดยโสธร ให้ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ผลจากความร่วมมือดังกล่าว สรุปได้ว่า จะใช้ที่ดินสวนเกษตรของโรงเรียนบ้านกว้างท่าเยี่ยม เนื้อที่ทั้งหมด 30 ไร่ ในการก่อสร้างสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานยโสธร
          ภายหลังจากรับมอบที่ดิน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงฝึกงานหลังแรก (บัจจุบัน คือ อาคารฝึกงานช่างไฟฟ้าและช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก) ตามงบประมาณที่นายสมบูรณ์ ทองบุราณ เสนองบประมาณสนับสนุน จำนวน 1,200,000.00 (หนึ่งล้านสองแสนบาทถ้วน) สร้างแล้วเสร็จในปี พศ. 2538 และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดทำแผนงบประมาณ โครงการก่อสร้าง สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานยโสธรเต็มรูปแบบ จนก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พศ. 2540
           นับจากนั้น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดยโสธร ได้เริ่มดำเนินการให้บริการประชาชนในการฝึกอาชีพ ทั้งทางด้านช่างอุตสาหกรรม  คอมพิวเตอร์  และภูมิปัญญาท้องถิ่น   ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2540 เป็นต้นมา ด้วยความตั้งใจจริงภายใต้สัญลักษณ์ เทวดาสามองค์ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็นสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานยโสธร จนมาถึงปัจจุบัน
 
 
 
แผนที่ตั้งหน่วยงาน
      
 
     
 
 
ภารกิจหน่วยงาน
1.ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน
   1.1 การฝึกเตรียมเข้าทำงาน
   1.2 การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน
   1.3 การฝึกอาชีพเสริม
 
2.ส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงาน
   2.1 ให้บริการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
   2.2 การแข่งขันฝีมือแรงงาน
 

3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้าง   ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของลูกจ้างขึ้นไป โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่ พ.ร.บ.ฯ กำหนด ถ้าไม่ดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามสัดส่วนที่กำหนดต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

 4. การให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้กู้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแรงงานหรือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน วงเงินกู้ยืมไม่เกิน 1,000,000 บาท/ครั้ง ระยะเวลาผ่อนชำระเงินคืนไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี

 5. การรับรองความรู้ความสามารถ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 กำหนดให้สาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษเปรียบเทียบปรับ                     โดยผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท         สถานประกอบกิจการที่จ้างงานผู้ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 ปัจจุบันได้กำหนดให้สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 สาขา ดังนี้                     

    1. ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร

    2. ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก

และสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ จำนวน 3 สาขา ดังนี้

    1. ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ

    2. ช่างเชื่อมทิก

    3. ช่างเชื่อมแม็ก