การแสดงผล

+
-

ประวัติหน่วยงาน

ความเป็นมา

1. ตั้งสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        ด้วยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีภารกิจในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และส่งเสริมให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานตามนโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537 ตลอดจนแผนพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2538-2544 ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งกองทุนการศึกษา เพื่อให้ภาคเอกชนกู้ ไปจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพเอกชนได้  โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับคำขอและเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีประสิทธิภาพ และมีเอกภาพ ในการประสานงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงให้ตั้งสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากองเป็นการภายใน ให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและประสานการพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งเสริมการฝึกอาชีพ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537 การพิจารณาจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของกรม และให้ยกเลิกคำสั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ 307/2538 ลงวันที่ 4 เมษายน 2538 เรื่อง ตั้งฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งที่ 806/2538 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ตั้งสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน แบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 3 ฝ่าย 1 งาน ได้แก่ งานธุรการ ฝ่ายส่งเสริมการฝึกอาชีพ ฝ่ายพิจารณาการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน และฝ่ายประสานการพัฒนาฝีมือแรงงาน

2. ตั้งสำนักงานกองทุนเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        โดยที่รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับให้เป็นแหล่งเงินกู้สำหรับกำลังแรงงานใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงาน แรงงานที่ถูกปลดหรือเลิกจ้าง เพื่อนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพ ทักษะและฝีมือแรงงาน หรือพัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงานของแรงงานเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สมควรปรับปรุงโครงสร้างการจัดส่วนราชการใหม่ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงให้ยกเลิกคำสั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ 806/2538 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 และให้ตั้งสำนักงานกองทุนเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน ขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากองเป็นการภายใน ให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการพิจารณาคำขอจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน งานเลขานุการคณะกรรมการกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน งานทะเบียนผู้กู้ยืมเงินและสถานฝึกอบรม การพิจารณาคำขอกู้ การให้กู้ยืมเงิน และการส่งเสริมการฝึกอาชีพตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537

        กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งที่ 20/2539 ลงวันที่ 10 มกราคม 2539 ตั้งสำนักงานกองทุนเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน แบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 3 ฝ่าย 1 งาน ได้แก่ งานธุรการ ฝ่ายส่งเสริมการฝึกอาชีพ ฝ่ายพิจารณาการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน และฝ่ายกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

3. ตั้งสำนักส่งเสริมและประสานการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        จากกรณีที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจส่งผลให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างเป็นจำนวนมากและงบประมาณของรัฐมีจำกัด รัฐบาลมีนโยบายให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมีโอกาสได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้สามารถมีงานทำในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ยังมีความต้องการแรงงานควบคู่กับการส่งเสริมและประสานงานกับภาคราชการและภาคเอกชนในการระดมทรัพยากรมาเพื่อดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

         กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงต้องปรับปรุงส่วนราชการเป็นการภายในเพื่อรองรับการดำเนินงาน ด้านการส่งเสริมและประสานการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและกำลังแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงให้ตั้งสำนักส่งเสริมและประสานการพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นเป็นการภายใน มีฐานะสูงกว่ากอง ให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำแผนและส่งเสริมประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานสตรี เด็ก คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสและแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง  ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนขยายการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานในสถานประกอบการและแรงงานใหม่ ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบาย และจัดทำแผนแม่บทในการประสานการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งที่ 93/2541 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ตั้งสำนักส่งเสริมและประสานการพัฒนาฝีมือแรงงาน  ประกอบด้วยส่วนราชการ ดังนี้

        (1) กองประสานการพัฒนาฝีมือแรงงานสตรีและเด็ก

        (2) ส่วนกองทุนเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        (3) ส่วนส่งเสริมและประสานการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        ให้ยกเลิกคำสั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ 20/2539 ลงวันที่ 10 มกราคม 2539 เรื่อง ตั้งสำนักงานกองทุนเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน และคำสั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ 19/2539 ลงวันที่ 10 มกราคม 2539 เรื่อง ตั้งกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้โอนอำนาจหน้าที่และอัตรากำลังของสำนักงานกองทุนเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน และกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปเป็นของส่วนกองทุนเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน และส่วนส่งเสริมและประสานการพัฒนาฝีมือแรงงานตามลำดับ

4. ตั้งกลุ่มงานกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

        พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2545 กำหนดให้กลุ่มงานกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน

5. ตั้งสำนักงานบริหารพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        เพื่อให้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารงาน สามารถเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชนในการพัฒนาฝีมือแรงงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ยกเลิกคำสั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ 159/2546 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 เรื่อง ตั้งกลุ่มบริหารพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้จัดตั้งสำนักงานบริหารพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นเป็นการภายในมีฐานะเทียบเท่ากอง ให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (ยกเว้นงานมาตรฐานฝีมือแรงงาน) ศึกษา วิเคราะห์ รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ และกำหนดแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ภาคเอกชน เป็นหน่วยงานกลางในการให้บริการภาคเอกชน เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 งานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน งานเลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน และติดตามประเมินผลเกี่ยวกับการให้สิทธิและประโยชน์ในการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งที่ 349/2546 ลงวันที่ 24 เมษายน 2546 ตั้งสำนักงานบริหารพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 

        กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งที่ 253/2549 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2549 ยกเลิกคำสั่งตั้งสำนักงานบริหารพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามคำสั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ 349/2546 ลงวันที่ 24 เมษายน 2546 และให้โอนภารกิจ อำนาจหน้าที่ อัตรากำลัง ภาระผูกพัน และวัสดุครุภัณฑ์ของสำนักงานบริหารพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปสังกัดสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

6. ตั้งสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        เพื่อให้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ในการส่งเสริม และสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากยิ่งขึ้น  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นเป็นการภายใน มีฐานะเทียบเท่ากอง ให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำข้อมูลทางวิชาการและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นศูนย์กลางข้อมูลการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงานการขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การให้ความเห็นชอบหลักสูตรรายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ และการประเมินเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน บริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ประสานและติดตามผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งที่ 252/2549 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2549 ตั้งสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้โอนภารกิจ อำนาจหน้าที่ อัตรากำลัง งบประมาณภาระผูกพัน และวัสดุครุภัณฑ์ของสำนักงานบริหารพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และของกลุ่มงานกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน ไปสังกัดสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

7. ตั้งกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        เพื่อให้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ในการส่งเสริม และสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ยกเลิกคำสั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ 252/2549 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2549 และให้จัดตั้งกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นเป็นการภายใน มีฐานะเทียบเท่ากอง ให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อมูลทางวิชาการและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นศูนย์กลางข้อมูลการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงานการขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การให้ความเห็นชอบหลักสูตรรายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ และการประเมินเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน บริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ประสานและติดตามผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

        กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งที่ 436/2549 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 ตั้งกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้โอนภารกิจ อำนาจหน้าที่ อัตรากำลัง งบประมาณ ภาระผูกพัน และวัสดุครุภัณฑ์ของสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปสังกัดกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน