๑. จังหวัดบึงกาฬ
จังหวัดบึงกาฬ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ.๒๕๕๔ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยแยกการปกครองออกจากจังหวัดหนองคาย ประกอบด้วย ๘ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ บุ่งคล้า บึงโขงหลง เซกา ปากคาด พรเจริญ ศรีวิไล และโซ่พิสัย ๕๓ ตำบล ๖๑๕ หมู่บ้าน ๑ อบจ. ๑๖ เทศบาล ๔๓ องค์การบริหารส่วนตำบล พื้นที่ ๔,๓๐๕ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒,๖๘๐,๖๒๕ ไร่ ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๗๕๑ กิโลเมตร
๒. ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบึงกาฬ
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีคำสั่งที่ ๓๖๐/๒๕๕๔ เรื่องจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบึงกาฬเป็นหน่วยงานภายในของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่เลขที่ ๒๙๘/๒ ถนนมีชัย ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นอาคารพาณิชย์ ๒ ชั้น ๑ คูหา
๓. ความเป็นมาของการก่อสร้างศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบึงกาฬ
๓.๑ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบึงกาฬ ทำหนังสือที่ รง ๐๔๐๖.๖.๗/๐๐๘ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เพื่อขอพื้นที่สำหรับก่อสร้างศูนย์ฯ จำนวน ๑๕-๒๐ ไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัด(นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา) ส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการพิจารณาฯ จัดสรรในพื้นที่สำหรับก่อสร้างศูนย์ราชการ
๓.๒ วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ผู้ว่าราชการจังหวัด(นายพรศักดิ์ เจียรณัย) สั่งการให้ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบึงกาฬ ไปหาสถานที่ก่อสร้างศูนย์ฯ ภายนอกพื้นที่สำหรับก่อสร้างศูนย์ราชการ เนื่องจากต้องใช้พื้นที่มากและต้องติดถนนสายหลักที่การเดินทางสะดวก และให้เร่งรัดการก่อสร้างและการบรรจุอัตรากำลังเพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสมบูรณ์ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ ศพจ.บึงกาฬ ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อขอให้เดินทางมาเลือกสถานที่สำหรับก่อสร้างศูนย์ ที่ ผอ.ศพจ.บึงกาฬ ได้ประสานไว้ ๒ แห่งคือ ๑.ทีดินของรัฐบริเวณบ้านคำหมื่น เทศบาลตำบลไคสี ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ จำนวน ๓๐ ไร่ ห่างจากถนนหนองคาย – บึงกาฬ ประมาณ ๒๐๐ เมตร ห่างจากจังหวัดบึงกาฬมาทางจังหวัดหนองคายประมาณ ๑๒ กิโลเมตร และ ๒.ที่ดินของรัฐบริเวณบ้านท่าอินทร์แปลง เทศบาลตำบลโคกก่อง ตำบลโคกก่อง อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ จำนวน ๕๐ ไร่ ริมถนน บึงกาฬ-นครพนม ห่างจากจังหวัดบึงกาฬ มาทางจังหวัดนครพนม ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร
๓.๓ วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๕ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(นายประพันธ์ มนทการติวงศ์) และคณะ ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่สำหรับก่อสร้าง ศพจ.บึงกาฬ และได้ตัดสินใจเลือกที่ดินของรัฐบริเวณบ้านคำหมื่น เนื่องจากพื้นที่ภูมิประเทศไม่ต้องถมที่มากนักและโอกาสน้ำท่วมน้อยมาก สาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ถนนคอนกรีตพร้อม และชุมชนยินดีให้ก่อสร้างศูนย์ ห่างจากจุดที่จะก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ ๕ ประมาน ๕ กิโลเมตร
๓.๔ จังหวัดบึงกาฬได้ทำสัญญา เลขที่ ๐๐๙/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จ้างผู้รับจ้างถมที่ดินพร้อมบดอัดแน่นสถานที่ก่อสร้างศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบึงกาฬ แห่งที่ ๑ ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ (แห่งใหม่) บริเวณหนองเงี่ยง บ้านท่าไคร้ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ พื้นที่ ๒.๕ ไร่ และแห่งที่ ๒ บริเวณทำเลเลี้ยงสัตว์โคกนาท่า บ้านคำหมื่น ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ พื้นที่ ๒๕.๒๑ ไร่
๓.๕ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ จังหวัดบึงกาฬอนุมัติให้ ผู้รับจ้าง ดำเนินการก่อสร้างโครงการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบึงกาฬ บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ (ด้านหลังศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ) ตามสัญญาเลขที่ ๐๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ เริ่มต้นก่อสร้าง วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙ และสิ้นสุดสัญญาจ้างวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐
๔. สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬ
๔.๑ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งที่ ๒๔๑๗/๒๕๕๙ ตั้งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬ เป็นหน่วยงานภายในมีฐานะเทียบเท่ากอง ขึ้นตรงต่ออธิบดี โดยให้โอนอัตรากำลัง งบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ และภาระผูกพันของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ไปสังกัดสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬ มีหน้าที่ดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และรับรองความรู้ความสามารถให้แก่กำลังคนในจังหวัดบึงกาฬ ให้มีความสามารถในการพัฒนาปรับปรุงงาน มีฝีมือความรู้ความสามารถ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานเพื่อพัฒนาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ
๔.๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬ ได้ย้ายสำนักงานมาตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ (ด้านหลังศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ) ภายในอาคารฝึกอบรม สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬ เลขที่ ๓๖๖ บ้านท่าไคร้ หมู่๕ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และเมื่อวันอังคารที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้ทำพิธีเปิดอาคาร โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ(นายสุรศักดิ์ เกษมสุวรรณ) เป็นประธาน
๕.การก่อสร้างสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬแห่งที่ ๒
๕.๑. คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐจังหวัดบึงกาฬ มีมติควรอนุญาตให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ แปลง โคกนาท่า บางส่วน จำนวนเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ตั้งอยู่ที่ บ้านคำหมื่น ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ กรมที่ดินขอให้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬ ส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการถอนสภาพที่ดิน
๕.๒. วันที่ 23 พฤษภาคม ๒๕๖๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬ ได้ยื่นคำขอ ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) เห็นชอบให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ ตามมาตรา ๕๔ และยื่นคำขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดบึงกาฬ สำรวจ รังวัด แนวเขตที่ดินด้านที่ติดกับทางสาธารณะ เพื่อปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐให้เป็นปัจจุบัน
ที่อยู่ ๓๖๖ หมู่ที่ ๕ ถนนบึงกาฬ-นครพนม ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ๓๘๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๔๒ ๔๙๒๕๔๐ โทรสาร ๐๔๒ ๔๙๒๕๔๒
ผู้ดูแลเว็บไซต์ นายศรชัย ศรีพันลม นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงาน