วิสัยทัศน์
§ พัฒนาทักษะคนทำงาน และผุ้ประกอบกิจการในบุรีรัมย์ ให้มีผลิตภาพสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ก้าวทันเทคโนโลยี 4.0
พันธกิจ
1. พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
2. พัฒนาฝีมือแรงงานรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ภารกิจของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 37 บุรีรัมย์
การฝึกเตรียมเข้าทำงาน เป็นการฝึกอบรมแรงงานใหม่ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในสาขาอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อให้มีความรู้มีทักษะฝีมือในขั้นพื้นฐานของสาขาอาชีพต่างๆ ตลอดจนทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงาน ควบคู่กับการพัฒนานิสัยอุตสาหกรรม มีความพร้อมที่จะทำงานได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 ระยะเวลาการฝึกในศูนย์ฯ 2-6 เดือน และฝึกในสถานประกอบกิจการอีก 1-2 เดือน แล้วแต่สาขา
การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน เป็นการฝึกอบรมให้กับผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว ให้มีความรู้ มีทักษะฝีมือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและตลาดแรงงานในสาขาที่ปฏิบัติงานอยู่ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือเกื้อหนุนการทำงาน ให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีทัศนคติดีต่อการทำงานมากขึ้น ระยะเวลาฝึกตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป
การฝึกอาชีพเสริม เป็นการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เกษตรกร ผู้ว่างงานหรือถูกเลิกจ้าง ผู้ประสบความเดือดร้อนต่างๆ ผู้ต้องขังที่ใกล้ออก ทหารก่อนปลดประจำการ ผู้พิการ ผู้บำบัดยาเสพติด ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้แรงงาน มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ ในการประกอบอาชีพอิสระ ระยะเวลาการฝึก 6 ชั่วโมงขึ้นไป
การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นการทดสอบฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และทัศนคติของผู้ประกอบอาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานรวมทั้งได้ทราบระดับความสามารถของตนเอง และปรับปรุงพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาที่ดำเนินการทดสอบอาทิเช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ระดับ1 ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพานิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 พนักงานการใช้คอมพิวเตอร์(การประมวลผลคำ) เป็นต้น
และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบุรีรัมย์ ยังส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับสถานศึกษาต่างๆ เช่น วิทยาลัยเทคนิคนางรอง วิทยาลัยสารพัดช่างบุรีรัมย์
งานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เป็นการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและการบริการของประเทศ โดยมีมาตรการจูงใจด้านภาษีอากรและสิทธิประโยชน์ต่างๆ สถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป
กองทุนดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ผู้รับการฝึกและผู้ประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝึกอบรม
สิทธิประโยชน์ของผู้ดำเนินการฝึกอบรม ตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กรณีเป็นผู้ดำเนินการฝึกทั่วไป มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษสำหรับค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
งานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ตามกฎหมายกำหนดให้ สาขาอาชีพ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งต้องดำเนินการโดยช่างทุกคนต้องได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
ซึ่งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบุรีรัมย์ มีหน้าที่ในการประเมินและออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ให้กับผู้ที่จะประกอบอาชีพด้านช่างไฟฟ้า
งานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบุรีรัมย์ ได้จับมือกับหน่วยงานภายนอกและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดการฝึกอบรมได้ตรงกับความต้องการและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด อาทิเช่น การทำ MOU ร่วมกับ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ การร่วมบูรณาการฝึกอบรมกับเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ เรือนจำอำเภอนางรอง