การแสดงผล

+
-

วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม

วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม

ภารกิจ

                สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยามีภารกิจในการให้บริการ  ปฏิบัติ  ประสาน  และส่งเสริมการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน  ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน การแข่งขันฝีมือแรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545                 แก่ประชากรวัยทำงาน และกลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อการไปทำงาน มีลักษณะงานดังนี้

®  เป็นกระบวนการปรับทักษะความรู้   ความสามารถของคนให้เหมาะสมกับงานตามตำแหน่งหน้าที่  เน้นการฝึกภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี ใช้ระยะเวลาฝึกสั้น

®  การจัดทำหลักสูตร  เน้นเอาเนื้องานที่สาขานั้นต้องทำ เป็นตัวกำหนดทักษะในหลักสูตรและให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขานั้นๆ       

® กำหนดพื้นความรู้สามัญก่อนเข้าไปฝึกในแต่ละสาขา ให้กับผู้ที่มีงานทำแล้ว รวมถึงผู้ต้องการเปลี่ยนสายงานและผู้ต้องการเพิ่มทักษะฝีมือให้สูงขึ้น    ซึ่งบางสาขาได้จัดฝึกแบบไม่มีรอบไม่มีรุ่น และเมื่อ     ผู้รับการฝึกมีความพร้อมสามารถเข้าทดสอบประเมินผลกับครูเป็นการแข่งขันความรู้   ทักษะของตัวเองเทียบกับแบบทดสอบที่กำหนดไว้ก่อนแล้วนั่นเอง

1.  ด้านการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน

                   ปัจจุบันสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยาได้มีการเปิดฝึกอบรมให้แก่ประชาชน แบ่งเป็น 3 หลักสูตร คือ

                      1.1 หลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน  (Pre - employment Training) เป็นการฝึกอาชีพให้แก่แรงงานใหม่อายุ 15 ปีขึ้นไป   เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถในขั้นพื้นฐานของสาขาอาชีพต่างๆ ตลอดจนทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ เพื่อเตรียม เข้าสู่ตลาดแรงงาน และให้มีความพร้อมที่จะทำงานในฐานะแรงงานฝีมือ      โดยฝึกในสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา ระยะเวลา  2 - 6  เดือน  ต่อด้วยการฝึกในกิจการอีก 1 - 4  เดือน แล้วแต่สาขาอาชีพนั้น ได้แก่ ช่างประกอบโครงอลูมิเนียม ช่างเชื่อมไฟฟ้าด้วยมือ ช่างไฟฟ้า  ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

                    1.2  หลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ (Upgrade Training)  เป็นการฝึกอาชีพให้แก่แรงงานที่มีงานทำอยู่แล้ว  อายุ 18  ปี  ขึ้นไปให้มีพื้นความรู้ ความสามารถและทักษะเพิ่มเติมในสาขาอาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่  หรือสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อหนุนกับงานที่ทำอยู่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี  ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะเดิมให้สูงขึ้นหรือเพิ่มทักษะด้านการบริหารจัดการ  หรือความรู้เสริมอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับสาขาอาชีพนั้น ๆ โดยระยะเวลาฝึกตั้งแต่             12 ชั่วโมงขึ้นไป ได้แก่ พนักงานนวดแผนไทย  พูดภาษาอังกฤษคำต่อคำเพื่อการทำงาน  การปูกระเบื้อง         การใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด  เป็นต้น

                    1.3 หลักสูตรการฝึกอาชีพเสริม (Re - training)  เป็นการฝึกอาชีพให้กับแรงงานที่มีงานทำอยู่แล้วหรือว่างงานและมีความประสงค์จะเปลี่ยนอาชีพใหม่หรือประกอบอาชีพอื่นเพิ่มเติม เป็นการฝึกอบรมฝีมือเพิ่มเติมความรู้ ความสามารถ ในสาขาอาชีพอื่น นอกเหนือจากอาชีพปกติ อายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อพัฒนาแรงงาน ให้มีความรู้ ความสามารถ และทัศนคติที่ดีเพิ่มเติมในสาขาอาชีพอื่นที่นอกเหนือจากงานที่ปฏิบัติอยู่ตามปกติ  หรืออาชีพที่ทำอยู่  หรือให้สามารถทำงานในสาขาอาชีพอื่นได้  มีระยะเวลาการฝึกตั้งแต่ 6 - 480 ชั่วโมง ได้แก่  การซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร  ศิลปะประดิษฐ์งานปั้นจากฝุ่นไม้ไผ่  การเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นต้น

                2. การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นการจำแนกระดับฝีมือแรงงานตามความรู้และความสามารถในการทำงานสาขาอาชีพต่างๆ ตามลักษณะที่ควรรู้และสามารถทำได้ในขั้นตอน ต่าง ๆ ตามลำดับความยากง่ายของงาน มี 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ระดับ 2 และระดับ 3

การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นการทดสอบความรู้ความสามารถตามมาตรฐาน ฝีมือแรงงานที่กำหนดแต่ละประเภท โดยแบ่งเกณฑ์การทดสอบออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ระดับ 2 และระดับ 3             โดยทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผ่านการทดสอบหางานทำได้ง่ายขึ้น มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในการทำงาน

การทดสอบฝีมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ เป็นการดำเนินการให้กับผู้ที่ต้องใช้ฝีมือ โดยผู้ที่จะไปทำงานต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือการทดสอบตามแบบทดสอบฝีมือคนทำงานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ หรือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามความต้องการของนายจ้างภายใต้การกำกับดูแลของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

3. การส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

เป็นกิจกรรมที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้บริการการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรฝึกให้กับหน่วยงานราชการ สถานประกอบการ หน่วยงานฝึกอบรม ตลอดจนบุคคลทั่วไป เพื่อให้เป็นผู้สามารถจัดการฝึกอบรม ตลอดจนดำเนินการฝึกอบรมได้อย่างเหมาะสมและเป็นระบบในหลักสูตรต่างๆ เช่น เครื่องกล อุตสาหการไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  ก่อสร้าง  และอุตสาหกรรมศิลป์  งานด้านการบริการ เป็นต้น  นอกจากการให้บริการแล้ว ยังรวมถึงการพัฒนาบุคลากรฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานอีกด้วย  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของตนเองในฐานะที่มีภารกิจด้านการฝึกฝีมือแรงงาน

การประสานความร่วมมือในการพัฒนาแรงงานระดับชาติและระดับจังหวัด โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการในรูปของคณะกรรมการที่เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ซึ่งจะทำการกำหนดนโยบาย ทิศทางการฝึกอาชีพ และประสานแผนการพัฒนาฝีมือแรงงานของหน่วยงานพัฒนาแรงงาน ภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ โดยที่ภายใต้ กพร.ปช. มีคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) สำหรับการนำระบบและรูปแบบการดำเนินงานใน แนวทางเดียวกันกับ กพร.ปช. ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่    ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ซึ่งทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนที่ดำเนินการด้านการพัฒนาแรงงานมีกลไกเอื้อต่อการทำงานร่วมกันได้

การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เป็นการให้ภาครัฐและภาคเอกชน         ที่ดำเนินงานด้านการฝึกอบรมฝีมือ แรงงานได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน คือ กลุ่มเป้าหมาย วิทยากร สถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ และวัสดุการฝึก ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการพัฒนา ศักยภาพกำลังแรงงานอย่างเกิดประสิทธิภาพ

4. การแข่งขันฝีมือแรงงาน

    การแข่งขันฝีมือแรงงาน เป็นกระบวนการแข่งขันขีดความสามารถในทักษะฝีมือ ศักยภาพ และสมรรถภาพการทำงาน ในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและเกิดการพัฒนาขีดความสามารถกำลังแรงงาน อันจะเป็นการ นำไปสู่การเสริมสร้างผลผลิตมูลค่าเพิ่ม และประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน    ของแรงงาน ให้มีการพัฒนาฝีมือและความรู้ให้ทันต่อเทคโนโลยี สินค้าได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก กรมพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงาน                  ได้มอบหมายให้กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานและการแข่งขัน เป็นผู้ประสานงานและ จัดการแข่งขันฝีมือแรงงานขึ้น 2 ปีต่อครั้ง โดยการแข่งขันจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การแข่งขันฝีมือแรงงานสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป  และการแข่งขันฝีมือคนพิการ

5.  พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545

ผู้ประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป และอยู่ในข่ายบังคับเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ถ้าไม่ดำเนินการฝึกอบรมและยื่นรับรองหลักสูตรให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมของทุกปี จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน  การส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานของภาคเอกชน โดยใช้มาตรการจูงใจภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 กำหนดให้นายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการซึ่งมีการจัดฝึกอบรมฝีมือแรงงานโดยการฝึกเตรียมเข้าทำงานให้แก่แรงงานใหม่ที่จะรับเข้าทำงาน หรือฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน หรือฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพให้แก่ลูกจ้างของตนได้รับการยกเว้นและลดหย่อนภาษีอากร รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ ด้านต่างๆ และมีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน  นอกจากนี้สถานประกอบการยังสามารถขอจัดตั้งเป็นศูนย์/สถานทดสอบฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะออกใบอนุญาตพร้อมเครื่องหมายการเป็นศูนย์/ สถานทดสอบฝีมือแรงงานให้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เข้าสู่มาตรฐานสากล

6. การรับรองความรู้ความสามารถ

ด้วยพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๗  เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ พัฒนาประสิทธิภาพของสถานประกอบกิจการ รวมทั้งให้ความคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะจากการทำงาน โดยกำหนดให้มีระบบการประเมินเพื่อรับรองความรู้ความสามารถ และให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินการของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ